วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แนะนำการท่องเที่ยวในประเทศไทย


  การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือ Eco-Tourismนั้น โดย ความหมายก็คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ต้องช้ทุนธรรมชาติอย่างมัธยัสถ์ให้มีความมั่นคง ยั่งยืน และในท้ายที่สุดจะต้องคืนทุนต่อสังคม ซึ่งหมายถึงการให้ท้องถิ่นได้มีโอกาสตั้งแต่เริ่มรับรู้ตัดกระบวนการที่สมบูรณ์ในการพิจารณาทั้งในเรื่องทุนธรรมชาติและทุนทางสังคม ซึ่งส่งผลต่อทุนทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ได้

            การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากแนวโน้ม ๒ ประการมาบรรจบกันคือ แนวโน้มเกี่ยวกับการอนุรักษ์และแนวโน้มเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยมีสาระสำคัญเรื่องแนวโน้มเรื่องการอนุรักษ์ เกิดจากการที่ประชาชนเพิ่มขึ้น และภาวะทางเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ กิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมืองแร่ และการเกษตรเกิดขึ้นภายในบริเวณทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ จนทำให้ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม และผลที่ตามมาคือความไม่ยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ได้พยายามผสมผสานเรื่องของการอนุรักษ์เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ

            ส่วนแนวโน้มเรื่องการท่องเที่ยวนั้น ปรากฏในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการใช้เวลาว่างในการเดินทางท่องเที่ยว โดยมีแนวโน้มว่าต้องการท่องเที่ยวแบบผจญภัยเข้าไปมีส่วนร่วมและสัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังอยากที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสถานที่ที่ไปเยือนตั้งแต่ระบบนิเวศไปจนถึงชนิดพันธุ์พืช สัตว์ที่หายากหรือกำลังจะสูญพันธุ์ และประเด็นปัญหาด้านการอนุรักษ์ เช่น การสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ การลักลอบล่าสัตว์ป่า เป็นต้น ฯลฯ จากแนวโน้มสองประการดังกล่าวมาบรรจบกัน ทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือการท่องเที่ยวเพื่อรักษาระบบนิเวศขึ้น ดังนั้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จึงมีความหมายมากกว่าการท่องเที่ยวแบบธรรมดา แต่จะหมายความรวมไปถึงการท่องเที่ยวที่จะต้องมีการอนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย

            การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการคือ การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของแกล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ หากธรรมชาติและระบบนิเวศได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ในรูปแบบใดก็ตาม โอกาสที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรมลงหรือถูกทำลายลงก็มีอยู่สูง การให้ความรู้ความเข้าใจหรือการสร้างจิตสำนึกแก่นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

            องค์ประกอบข้อ ๒ คือความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบแรกโดยตรง เพราะนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความปรารถนาหรือสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในลักษณะต่าง ๆ และสภาพภูมิทัศน์ตามธรรมชาติ ตลอดจนธรรมชาติที่ยากลำบากต่อการเดินทางและท้าทาย

            องค์ประกอบที่ ๓ คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เพราะการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนท้องถิ่นในระยะยาวมากว่ากิจกรรมอื่น ๆ การเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในรูปแบบต่าง ๆ จะช่วยให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม รูปแบบของการมีส่วนร่วมของชุมชน ได้แก่ การลงทุนเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่ำ การเป็นมัคคุเทศก์ การนำสินค้าที่เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านมาขายแก่นักท่องเที่ยว และการจ้างงานในส่วนบริการอื่น ๆ เป็นต้น

            การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นั้น มีความแตกต่างจากการท่องเที่ยวแบบเดิม กล่าวคือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะมีขอบข่ายในการพิจารณาที่ลึกซึ้งและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์เป็นหลัก ซึ่งสามารถระบุวัตถุประสงค์ได้ ๔ ประการ คือ
            ๑. เพื่อพัฒนาจิตสำนึกและความเข้าใจของนักท่องเที่ยวในการทำคุณประโยชน์แก่สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
            ๒. เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ที่มีคุณภาพหรือคุณค่าสูงให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนแหล่งท่องเที่ยว
            ๓. เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชนที่แหล่งท่องเที่ยวตั้งอยู่
            ๔. เพื่อดูแลรักษาและคงไว้ซึ่งคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว
            นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมด้วย
International Public Relations Division
Tourism Authority of Thailand
Tel: +66 (0) 2250 5500 ext. 4545-48
Fax: +66 (0) 2253 7419
E-mail: prdiv3@tat.or.th
Web site: www.tatnews.org
http://www.tatnews.org/tat_release/detail.asp?id=5415

ความหมายของการท่องเที่ยว


ความหมายของการท่องเที่ยว

aaaaaaผู้ใหญ่สมัยก่อนย้อนหลังไปเพียง  50-60 ปี  มักจะสั่งสอนลูกหลานว่า “อย่าเที่ยวเตร่ให้มากนักจะเสียผู้เสียคน”  ทั้งนี้ เพราะภาพลักษณ์ของคำว่า “ท่องเที่ยว”  ในสมัยที่การคมนาคมถนนหนทางยังไม่สะดวก  จะเป็นการเที่ยวเสเพลบ่อนเบี้ยในละแวกบ้าน  ผู้ใหญ่ก็ออกเดินทางรอนแรมไปกับกองเกวียนในหน้าแล้งเพื่อไปไหว้พระพุทธบาท  ไปทำบุญยังวัดวาอารามที่อยู่ห่างไกลจากถิ่นที่อยู่ของตน  หรือล่องเรือไปทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ยังวัดริมน้ำในจังหวัดไกลๆ เพียงแต่เขาไม่พูดกันว่าไปเที่ยวพระบาทหรือไปเที่ยววัด  เพราะฟังดูขัดกับความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนที่ถือว่าวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ควรนับเป็นที่เที่ยว

ดังนั้นการท่องเที่ยวจึงเป็นการเดินทางที่เกิดขึ้น  ตามเงื่อนไข  3 ประการ คือ
1. เป็นการเดินทางจากที่อยู่อาศัยปกติไปยังที่อื่นเป็นการชั่วคราว
2. เป็นการเดินทางด้วยความสมัครใจ
3. เป็นการเดินทางด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ที่มิใช่เพื่อประกอบอาชีพหรือหารายได้
aaaaaเมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ท่องเที่ยว” ในปัจจุบันเรามองเห็นภาพชาวต่างประเทศสะพายกล้องถ่ายรูปเดินกันเป็นกลุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างอยู่ตามวัด  วัง โบราณสถาน หรือนุ่งน้อยห่มน้อยอาบแดดอยู่ตามชายหาด  และอีกจำนวนไม่น้อยที่ไปเที่ยวชมป่าเขาลำเนาไพร  เรามักจะมองเห็นว่าชาวต่างประเทศเหล่านี้ได้ใช้จ่ายเงินเป็นค่าที่พัก  ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปชมสถานที่ต่างๆ ค่าซื้อของฝากของที่ระลึก  โดยที่เราไม่คิดว่านั่นเป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาใช้จ่ายในบ้านเมืองของเรา  ในขณะเดียวกันเรามักจะไม่คิดถึงคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวอยู่ภายในประเทศทั้งๆ ที่นักท่องเที่ยวคนไทยเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากทุกปี  เพราะการเดินทางท่องเที่ยวนั้นเป็นการผ่อนคลายความเคร่งเครียดพร้อมๆ  กับการได้รับความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี  ได้เห็นภูมิประเทศที่แปลกตาและได้สร้างความสัมพันธ์กับคนต่างถิ่นด้วย  เมื่อการคมนาคมสะดวก  การเดินทางท่องเที่ยวกลายเป็นความนิยม  ธุรกิจต่างๆ   ก็เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางการท่องเที่ยวมากมาย  ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง  เช่น ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจที่พักและอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจการค้า  ของที่ระลึก  ธุรกิจเหล่านี้ขายบริการให้กับตัวนักท่องเที่ยวเอง  และยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อม  เช่น การก่อสร้างอาคาร  ที่พัก  ร้านอาหาร  การผลิตสินค้าเกษตรกรรม  เพื่อขายให้แก่ธุรกิจที่พักและอาหาร  การผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อส่งร้านค้าของที่ระลึก  เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้จะก่อให้เกิดงานอาชีพใหม่ๆ และการกระจายเงินตราซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศนั่นเอง (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2529:3)
ความหมายของการท่องเที่ยว (Tourism)
                ในปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมว่าด้วยการเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงโรม  ประเทศอิตาลี  และได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “การท่องเที่ยว”  ไว้ว่า “การเดินทางเพื่อความบันเทิงรื่นเริงใจ  เยี่ยมญาติ หรือการไปร่วมประชุมแต่มิใช่เพื่อการประกอบอาชีพเป็นหลักฐานหรือไม่พำนักอยู่เป็นการถาวร”
aaaaaaaองค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization : W.T.O) ได้ให้ความหมายของการท่องเที่ยวดังนี้ “Tourism comprises the activities of the person traveling to and staying in places outside their usual environment  for not more than one consecutive year for leisure, business and other purpose.”     จากความหมายนี้สรุปได้ว่า การท่องเที่ยว หมายถึง การเดินทางของบุคคลจากที่อยู่อาศัยปกติไปยังที่อื่นเป็นการชั่วคราว (ไม่มากกว่า 1 ปี ติดต่อกัน) เดินทางด้วยความสมัครใจเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ติดต่อธุระและวัตถุประสงค์ใดๆก็ได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการประกอบอาชีพ หรือหารายได้
gggggggสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว (2546) การท่องเที่ยว หมายถึง การเดินทางเพื่อผ่อนคลายความเครียด แสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่า การเดินทางนั้น เป็นการเดินทางเพียงชั่วคราว ผู้เดินทางจะต้องไม่ถูกบังคับให้เดินทาง
ssssssssไพฑูรย์ พงศะบุตร และวิลาสวงศ์ พงศะบุตร (2542) ได้ให้ความหมายของการท่องเที่ยว (Tourism) หมายถึง การเดินทางไปเยือนสถานที่ต่างถิ่นซึ่งไม่ใช่เป็นที่พำนักอาศัยประจำของบุคคลนั้น และเป็นการไปเยือนชั่วคราวโดยไม่ใช่เพื่อเป็นการประกอบอาชีพหารายได้
ssssssssจากคำนิยามและความหมายของการท่องเที่ยว (Tourism) ผู้เขียนหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ข้างต้นสรุปได้ดังนี้ “การท่องเที่ยว” (Tourism) หมายถึง การเดินทางของมนุษย์จากสถานที่ใดสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง หรือการเดินทางจากถิ่นพำนักที่อาศัยไปยังสถานที่อื่นเป็นการชั่วคราวด้วยความสมัครใจไป และเป็นการเดินทางด้วยเหตุผลของการท่องเที่ยวมิใช่เพื่อการประกอบอาชีพ หรือหารายได้ เช่น การเดินทางเพื่อการพักผ่อน การเดินทางเพื่อไปชมการแข่งขันกีฬา (อาทิ การแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ โอลิมปิก     เป็นต้น) การเดินทางเพื่อการศึกษา การเดินทางเพื่อประชุมสัมมนา การเดินทางเพื่อเยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง หรือเพื่อน  การเดินทางเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นต้น
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นการท่องเที่ยว
 1. การเดินทางเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจเพื่อสุขภาพ เช่น การไปเที่ยวทะเลในวันหยุดการเดินทางไปอาบน้ำแร่ตามธรรมชาติเพื่อสุขภาพ  หรือรักษาโรคผิวหนังบางชนิด
2. การเดินทางไปประชุมหรือประกอบภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่น การไปเล่นกีฬา การไปสัมมนา การไปจาริกแสวงบุญทางศาสนา เป็นต้น
3. การเดินทางเพื่อทำธุรกิจบางอย่าง เช่น การสำรวจตลาด การตรวจสิ่งของที่สั่งการติดต่อธุรกิจ เป็นต้น
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ไม่จัดว่าเป็นการท่องเที่ยว
1. การเดินทางไปประกอบอาชีพอย่างหนึ่งอย่างใดในประเทศนั้นๆ
2. การเข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศนั้นๆ
3. การเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  ไม่ว่าผู้ที่ไปอยู่ประจำหรือไปเช้าเย็นกลับ (กรณีอยู่ชายแดน)
4. การเดินทางไปเพื่อการศึกษา ไปเป็นนักเรียน นักศึกษาและอยู่หอพัก
5. การเดินทางโดยมิต้องลงจากยวดยานพาหนะ (พรสวรรค์ มโนพัฒนะ,  2553)

สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย


แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถาน และประวัติศาสตร์

          ถือว่าเป็นม้ามืดเหมือนกันครับ จากที่ใครต่อใครคิดว่าน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเสียมากกว่า ที่มาแรง เอาเข้าจริงแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถาน และประวัติศาสตร์ กลับแซงโค้งเข้าป้าย โดยเฉพาะอันดับ 1 ทิ้งคู่แข่งประเภทอื่นชนิดหายห่วงด้วยคะแนนสูงสุด


          อันดับ 1 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ "วัดพระแก้ว" กรุงเทพมหานคร

          พระอารามหลวงในบริเวณพระบรมมหาราชวังแห่งนี้  เป็นหนึ่งในบรรดาแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกๆ ของประเทศ ที่เปิดเผยออกสู่สายตาของชาวโลกเมื่อแรกเริ่มมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 50 ปีก่อน นอกจากความสำคัญในฐานะเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร "พระแก้วมรกต" สถาปัตยกรรมหลายยุคหลายสมัยที่สร้างเสริมสืบต่อกันมาและการตกแต่งประดับประดาอันอลังการ ก็เป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดใจ โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังรอบพระระเบียงคด เรื่องรามเกียรติ์อันวิจิตรตระการตาและมีความยาวที่สุดในโลก


          อันดับ 2 วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

          ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองบนยอดดอยสูง สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ พ.ศ. 1916 ในสมัยพญากือนาแห่งอาณาจักรล้านนา ความสง่างามขององค์พระธาตุเจดีย์เหลี่ยมประดับด้วยแผ่นทองอร่ามตา รวมทั้งการตกแต่งประดับประดาด้วยศิลปกรรมล้านนาอันงดงาม ท่ามกลางม่านหมอกของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์เหนือเทือกดอยสูง รวมทั้งสภาพอากาศอันเย็นสบาย ผสมผสานกันเป็นบรรยากาศอันขรึมขลังที่แตกต่างจากสถานที่อื่น ๆ อย่างเป็นเอกลักษณ์ สร้างความประทับใจกับผู้มาเยือนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้รับคะแนนนิยมอย่างล้นหลามตามอันดับ 1 มาติด ๆ


          อันดับ 3 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          อดีตราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดของสยามประเทศ คือ 417 ปี ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2534 ร่องรอยสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่และงดงามที่หลงเหลือกระจัดกระจายอยู่สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองสืบเนื่องมาหลายยุคหลายสมัย แม้ในระยะหลังจะมีปัญหาความเสื่อมโทรมและการรุกล้ำพื้นที่ จนมีข่าวลือหนาหูว่าจะถูกเพิกถอนจากบัญชีมรดกโลก แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับการปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาจนคลี่คลายไปได้ด้วยดี ด้วยระยะทางที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ ไม่ไกลเกินนักท่องเที่ยวทั่ว ๆ ไปจะสัมผัสได้ ทำให้ได้รับคะแนนนิยมมาเป็นอันดับ 3


          อันดับ 4 วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

          องค์พระปรางค์สูงตระหง่านเสียดฟ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดด้านงานสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยมแห่งหนึ่งของยุครัตนโกสินทร์ ด้วยความสูงทั้งสิ้น 33 วาเศษ จึงถือว่าเป็นพระปรางค์ที่สูงใหญ่ที่สุดในโลกด้วย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 รอบองค์ปรางค์วิจิตรอลังการด้วย การตกแต่งประดับประดาด้วยถ้วยชามกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ เป็นเอกลักษณ์อันเป็นที่รู้จักดีอย่างหนึ่งของประเทศไทยในสายตาชาวต่างประเทศ จึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของตราสัญลักษณ์ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ซึ่งกลายมาเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในทุกวันนี้


          อันดับ 5 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

          เมืองโบราณที่มีร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ พัฒนาการขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งเป็นแว่นแคว้นที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมระดับสูง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดดเด่นด้วยโบราณสถานขนาดใหญ่จำนวนมากมายที่สร้างด้วยศิลาแลง ทั้งในส่วนของเมืองเชลียง อันเป็นเมืองในยุคเริ่มแรก และในส่วนของเมืองศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นส่วนต่อขยายที่เจริญขึ้นในยุคต่อมา โบราณสถานเหล่านี้ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเทือกทิวเขาและแมกไม้อันร่มรื่นปราศจากการรบกวนจากความเจริญสมัยใหม่ จัดว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่มีบรรยากาศงดงามสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศไทย


          อันดับ 6 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย

          เมืองโบราณที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเมืองศรีสัชนาลัยอย่างใกล้ชิด ในด้านวัติความเป็นมาขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2534 ในนามเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารร่วมกับเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองกำแพงเพชร เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมอันงดงามอ่อนช้อยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นแหล่งกำเนิดศิลปวัฒนธรรมสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรไทย การวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในด้านศิลปกรรม พุทธประติมากรรมของสุโขทัยได้รับกรยอมรับกันว่าเป็นสุดยอดทางความงามของศิลปะไทย เมืองเก่าสุโขทัยมีโบราณสถานขนาดใหญ่ตระการตาหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะพระพุทธรูปขนาดมหึมา แต่ในเรื่องของบรรยากาศความเป็นธรรมชาติอาจเป็นรองศรีสัชนาลัยอยู่เล็กน้อย เนื่องจากอยู่ใกล้กับเมือง


          อันดับ 7 พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

          ตามตำนานกล่าวว่าองค์พระธาตุเดิมสร้างมานานไม่น้อยกว่า 2,300 ปี โดยพระมหากัสสปะพร้อมพระอรหันต์ 500 องค์ ได้นำพระอุรังคธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ พระธาตุพนมเคยล้มทลายลงทั้งองค์ใน พ.ศ. 2518 เนื่องจากความเก่าแก่และถูกพายุฝนกระหน่ำต่อเนื่องกันหลายวัน ชาวไทยทั้งประเทศได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2522 ในวันนี้พระธาตุพนมจึงยังคงตระหง่านงามอยู่เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมไปถึงทางฝั่งลาวด้วย ในวันเพ็ญเดือน 3 ของทุกปี จะมีพุทธศาสนิกชนหลั่งไหลมาร่วมงานสมโภชพระธาตุพรมจากทั่วทุกสารทิศ


          อันดับ 8 พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

          ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองนครปฐม พระเจดีย์องค์เดิมมีลักษณะทรงโอคว่ำ หรือทรงมะนาวผ่าซีก แบบเดียวกับพระสถูปสาญจี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า เจดีย์ใหญ่องค์นี้อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นแต่ครั้งพระสมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นและพระราชทานนามใหม่ว่า "พระปฐมเจดีย์" อันมีความหมายว่าเจดีย์แห่งแรก ปัจจุบันยังคงมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมากทุกปี ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ยังเป็นแหล่งรวบรวมศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมสมัยทวารวดีเอาไว้มากที่สุดด้วย


          อันดับ 9 อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา

          เมืองโบราณในแบบแผนของสถาปัตยกรรมขอม ชื่อ "พิมาย" มาจากคำว่า "วิมาย" หรือ "วิมายปุระ" ที่ปรากฏในจารึกภาษาขอมบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท  จุดเด่นของเมืองคือปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากหลักฐานศิลาจารึกและรูปแบบทางศิลปะสร้างบ่งบอกว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในฐานะเทวสถานของศาสนาพราหมณ์รูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ยังเป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุศิลปะขอมเอาไว้จำนวนมากและน่าสนใจที่สุดของประเทศไทยอีกด้วย


          อันดับ 10 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี

          พระนครคีรี หรือเขาวัง เป็นพระราชวังแห่งเดียวของประเทศไทยที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ซึ่งแต่เดิมมีชื่อเรียกว่า "เขาสมณะ" เนื่องจากมีวัดสมณะอารามเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่บนไหล่เขาด้านตะวันออก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ครั้งยังผนวชอยู่เคยเด็จมาปฏิบัติภาวนาบนยอดเขา หลังเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้น โดยยอดเขาทางทิศตะวันตกเป็นที่ประทับและเรือนบริวารยอดกลางเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมเพชร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และบนยอดเขาด้านตะวันออกเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว อารามประจำพระราชวังพระนครคีรี พระราชทานนามว่า "พระราชวังพระนครคีรี" โดดเด่นด้วยความงดงามของสัดส่วนที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างสถาปัตยกรรมกับสภาพภูมิประเทศ